ช่วงนี้งานยุ่งนัก พักน้อย
‘รมณ์ไม่ดีใจด้อย บ่อยครั้ง
เริ่มแต่รุ่งจนคล้อย จรดค่ำ
ก็เล่นทำไม่ยั้ง อ่อนล้า ข้าเพลีย ๚ะ
แต่งโคลงสี่สุภาพบทนี้ขณะที่นั่งทำงานอยู่ ตอนนั้นเป็นเวลาประมาณ 18 นาฬิกา รู้ลึกล้าดวงตาเป็นอย่างมาก รู้สึกตาแห้ง ในร่างกายมีความรุ่มร้อน เหงื่อแตก และรู้สึกใจหวิว นั่งประเมินอาการตนเองอยู่สักพักก็รู้ว่าอ่อนล้าจากการนั่งอยู่แต่หน้าคอมพิวเตอร์เต็มทีแล้ว ได้เวลาพัก จึงเดินไปชงกาแฟ (แม้จะ 18 นาฬิกาแล้ว ก็ยังสามารถดื่มกาแฟได้ เพราะทดสอบมาหลายครั้งแล้ว พบว่าไม่มีผลต่อการนอนหลับในช่วงกลางคืนเลย)
นั่งดื่มกาแฟได้สักพัก ก็นึกอยากประพันธ์เพื่อพักผ่อนสมอง ท่านก็รู้ การได้ทำอะไรที่ชอบ ถือเป็นการพักผ่อนนะ แม้ในการประพันธ์ใดๆ เราต้องใช้ความคิด คิดเรื่องที่ประพันธ์ ทว่าการคิดนั้นไม่เหนื่อย กลับสนุกและให้ความผ่อนคลายได้
เมื่อเริ่มประพันธ์ ก็คิดหัวข้อ ว่าจะประพันธ์เกี่ยวกับอะไรดี เอาอย่างนี้แล้วกัน ประพันธ์ชีวิต ณ ขณะปัจจุบันแล้วกัน
ช่วงนี้งานยุ่งนัก พักน้อย: งานยุ่งจริงๆ มีงานเข้ามาตลอด มีเวลานอนในแต่ละคืนเพียง 2 – 4 ชั่วโมงเท่านั้น
รมณ์ไม่ดีและนอยด์ บ่อยครั้ง: อารมณ์ขุ่นมัว คงเป็นเพราะการพักผ่อนน้อย จะว่าไปก็ไม่ได้ “นอยด์” สักเท่าไหร่หรอก แต่ใช้คำนี้เพราะต้องการความคล้องจองกับคำว่า “น้อย” ในวรรคที่สองของบาทแรก
เริ่มแต่รุ่งจนคล้อย จรดค่ำ ไม่เว้น: ตื่นทำงานเวลาประมาณ 3 นาฬิกา จนบัดนี้ ยังไม่ได้ออกห่างจากคอมพิวเตอร์ไปไหนเลย เวลากินก็ยังต้องกินพลางทำงาน
ก็เล่นทำไม่ยั้ง อ่อนล้า ข้าเพลีย ๚ะ: ชัดเจนว่าทำไม่ได้หยุดหย่อนเลย อ่อนล้า ข้าเพลียจริงๆ
แต่งโคลงเสร็จก็รู้สึกผ่อนคลายขึ้น ไม่นานคงทำงานต่อได้
ปล. โคลงสี่นี้ไม่สุภาพ เพราะ “คำสุภาพ” ในระบบคำประพันธ์ คือ “คำที่ไม่มีรูปวรรณยุกต์กำกับ” การแต่งโคลงสี่สุภาพมีจุดบังคับต้องใช้คำสุภาพอยู่ 4 แห่ง คือ คำที่ 7 ในบาทแรก คำที่ 5 ในบาทที่สองและบาทที่สาม และ คำที่ 9 ในบาทที่สี่ โดยคำสุดท้ายหรือคำจบของโคลง ให้ใช้เสียงสามัญหรือเสียงจัตวา เพราะเวลาขับทำนองจริงจะต้องเอื้อนลากเสียงยาวตรงจุดนี้
ดูเถิด โคลงสี่นี้ไม่สุภาพเลย งื้ออออ …